คำสุภาพภาษาญี่ปุ่นที่อยู่รอบตัว

   หากพูดถึงคำสุภาพในภาษาญี่ปุ่น นอกจากคำสุภาพ "รูปทั่วไป" ที่ลงท้ายว่า です (เดส) และ ます (มัส) แล้ว คำสุภาพ "รูปยกย่อง" และ "รูปถ่อมตัว" ก็เป็นคำใกล้ตัวที่ได้ยินบ่อยในชีวิตประจำวันเช่นกันนะ

   อย่างเช่นสำนวนคำสุภาพที่มักได้ยินตามร้านต่าง ๆ ต่อไปนี้ ~

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. いらっしゃいませ (อิรัชไชมาเสะ)
= ยินดีต้อนรับ

   เริ่มต้นด้วยคำกล่าว "ยินดีต้อนรับ" ในภาษาญี่ปุ่นที่ได้ยินเป็นประจำเวลาเข้าร้านค้าหรือร้านอาหารญี่ปุ่น นั่นคือ いらっしゃいませ (อิรัชไชมาเสะ) หรือพูดแบบสั้น ๆ ได้ว่า いらっしゃい (อิรัชไช)

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/

   สำนวนนี้เป็นคำสุภาพที่มาจากคำกริยา いらっしゃる (อิรัชชารุ) ซึ่งเป็นรูปยกย่องของคำกริยาถึง 3 คำ ได้แก่ 行く (อิกุ) = "ไป" いる (อิรุ) = "อยู่" และ 来る (คุรุ) = "มา"

   ส่วน ませ (มาเสะ) ที่อยู่ส่วนท้ายของคำ มาจากการผันคำกริยา いらっしゃいます (อิรัชไชมัส) เป็นรูปคำสั่ง ด้วยเหตุนี้ いらっしゃいませ (อิรัชไชมาเสะ) ที่พนักงานร้านใช้กล่าวต้อนรับจึงมีความหมายว่าขอเชิญลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในร้าน และเป็นสำนวนเฉพาะที่นิยมใช้ตามร้านอาหารหรือร้านค้าต่าง ๆ เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ようこそ  (โยโกโสะ) ที่นิยมใช้กล่าวต้อนรับแขกเมื่อมาเยี่ยมบ้าน หรือต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศ เช่น 日本へようこそ! (นิฮงเอะ โยโกโสะ) = "ยินดีต้อนรับสู่ญี่ปุ่น !"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. ポイントカードはお持ちですか? (โปอินโตกาโดวะ โอโมชิเดสก๊ะ)
= มีบัตรสะสมแต้มไหมคะ/ครับ     

   ประโยคคำถามที่มักได้ยินแคชเชียร์ในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เกตใช้ถามลูกค้า อย่าง ポイントカードはお持ちですか? (โปอินโตกาโดวะ โอโมชิเดสก๊ะ) = "มีบัตรสะสมแต้มไหมคะ/ครับก็เป็นคำสุภาพรูปยกย่องเช่นกัน

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/

   โดย お持ちです (โอโมชิเดส) ในคำถามนี้มาจากการผันคำกริยา 持ちます (โมชิมัส) = "มี, เป็นเจ้าของ" ให้เป็นรูปยกย่อง Vますですส่วนคำตอบของคำถามนี้ หากใครมีบัตรสะสมแต้มก็ตอบว่า はい、持っています (ไฮ่ มตเตอิมัส) = "มีค่ะ/ครับ" หรือถ้าไม่มีก็ตอบสั้น ๆ ได้ว่า ないです (ไน่เดส) = "ไม่มีค่ะ/ครับ" กันได้เลย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. お待たせいたしまし (โอมาตาเสะ อิตาชิมาชิตะ)
= ขออภัยที่ให้รอค่ะ/ครับ

   นอกจากคำสุภาพรูปยกย่องที่ใช้พูดถึงการกระทำของอีกฝ่าย คำสุภาพรูปถ่อมตัวที่ใช้พูดถึงการกระทำของตัวเองก็เป็นวิธีการพูดเพื่อแสดงการให้เกียรติอีกฝ่ายเช่นกัน อย่างเช่น お待たせいたしまし (โอมาตาเสะ อิตาชิมาชิตะ) = "ขออภัยที่ให้รอค่ะ/ครับ" สำนวนที่มักได้ยินตามร้านอาหารเวลาพนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟให้ลูกค้า

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/

   สำนวนนี้มาจากการผันคำกริยา 待つ (มัทสึ) = "รอ" เป็นรูปให้กระทำ 待たせます(มาตาเซมัส) ซึ่งหากใช้กับเพื่อนหรือคนสนิทจะพูดแบบกันเองสั้น ๆ ว่า お待たせ (โอมาตาเสะ) แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นคำสุภาพรูปถ่อมตัวจะผันเป็นรูป Vますする/いたす ดังนั้น สำนวนนี้เมื่อเป็นรูปสุภาพแบบถ่อมตัว จะสามารถพูดได้ทั้ง お待たせしまし (โอมาตาเสะ ชิมาชิตะ) และ お待たせいたしまし (โอมาตาเสะ อิตาชิมาชิตะ) นั่นเอง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

   แม้ว่าคำสุภาพรูปยกย่องและรูปถ่อมตัวจะเป็นสำนวนที่ใช้ในสังคมการทำงานหรือติดต่อสื่อสารทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสำนวนที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันเมื่อเข้าไปใช้บริการตามร้านต่าง ๆ เช่นกัน ซึ่งในบางครั้งเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อาจจะเจอคำถามจากพนักงานเป็นภาษาสุภาพอยู่บ่อย ๆ และอาจสับสนกับความหมายและรูปของคำกริยาที่เปลี่ยนไปกันได้

   ด้วยเหตุนี้ สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรมจึงได้จัดทำ "บัตรช่วยจำคำสุภาพ" ที่รวบรวมคำสุภาพในภาษาญี่ปุ่นมากกว่า 100 คำ ทั้งรูปยกย่อง รูปถ่อมตัว รูปสุภาพทั่วไป เพื่อให้ใช้ศึกษาและทบทวนวิธีการผันรูปต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เข้าใจง่าย สามารถนำไปใช้งานได้ทันที (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ - https://tpabook.com/product/keigo-flip-card/)

   ผู้เรียนที่สนใจสามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือทั่วไป ศูนย์หนังสือ ส.ส.ท. ทั้ง 2 สาขา (สุขุมวิท 29 และพัฒนาการ 18) หรือสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ tpabook.com แอป Shopee (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabookcentre) และแอป Lazada (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabook) ส่วนในรูปแบบ E-book ก็สามารถสั่งซื้อที่เว็บไซต์ mebmarket.com หรือเว็บไซต์ ookbee.com กันได้เลย :D

ข้อมูลอ้างอิง :
บัตรช่วยจำคำสุภาพ โดย กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม
https://chigai.site/20833/
https://jw-webmagazine.com/japanese-conversation-at-convenience-stores/
https://kotobaken.jp/qa/yokuaru/qa-82/

กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press