ขนมโมจิในสุภาษิตญี่ปุ่น


        โมจิ (餅) เป็นขนมญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียวนึ่งสุก ใช้ทำอาหารได้หลากหลายทั้งอาหารคาวและหวาน ไม่ว่าจะเป็นซุปโมจิโอโซนิหรือโมจิสอดไส้ถั่วแดงกวน ทำให้โมจิกลายเป็นเมนูยอดฮิตที่ชาวญี่ปุ่นนิยมกินตลอดทั้งปี อีกทั้งเป็นขนมมงคลที่ใช้ในพิธีเฉลิมฉลองหรืองานเทศกาลต่าง ๆ เช่น การกินโมจิในวันขึ้นปีใหม่ ตามความเชื่อว่าโมจิเป็นขนมมงคลที่กินแล้วจะมีอายุยืนยาวเหมือนกับเนื้อโมจิที่ยืดและเหนียวนุ่ม

        การกินโมจิจึงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นมาช้านาน แม้แต่ในสุภาษิตญี่ปุ่นก็ยังนำโมจิไปใช้เปรียบเปรยในหลาย ๆ ความหมาย ลองมาดูกันว่า...จะมีความหมายว่าอย่างไรบ้างนะ ?

ตัวอย่างสุภาษิตญี่ปุ่นที่มีคำว่า "โมจิ"


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://hobbytimes.jp/article/20180608l.html

棚から牡丹餅
(たなからぼたもち)

คำอ่าน : ทานะคาระ โบตาโมชิ
คำแปล : โบตาโมจิหล่นจากหิ้ง

        สุภาษิตนี้มีความหมายว่า "มีโชคช่วย, ได้รับลาภลอยหรือสิ่งดี ๆ อย่างไม่คาดคิด" มาจากการเปรียบเปรยว่า โบตาโมจิหล่นจากหิ้งมาเข้าปากเองโดยไม่ต้องออกแรงใด ๆ ตัวอย่างการใช้สุภาษิตนี้ในประโยค เช่น 宝くじが高額当選した。棚から牡丹餅だ。 (ทาการากุจิงะ โคงากุโตเซนชิตะ ทานะคาระ โบตาโมชิดะ) = ถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่อย่างกับได้โบตาโมจิหล่นจากหิ้ง หมายถึง ถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่แบบไม่ได้คาดคิดมาก่อน

        คำว่า "โบตาโมจิ" ในสุภาษิตนี้เป็นชื่อขนมโมจิชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อน ห่อด้วยถั่วแดงกวน ชาวญี่ปุ่นนิยมกินขนมโมจินี้ในวันชุนบุน (春分の日 = วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันช่วงฤดูใบไม้ผลิ) และวันชูบุน (秋分の日 = วันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันช่วงฤดูใบไม้ร่วง) โดยเอกลักษณ์ของขนมโมจิชนิดนี้คือ สามารถเรียกได้ 2 ชื่อตามฤดูกาล ในฤดูใบไม้ผลิจะเรียกว่า "โบตาโมจิ" เพราะลักษณะของขนมโมจิคล้ายกับดอกโบตั๋นที่บานในฤดูใบไม้ผลิ ส่วนในฤดูใบไม้ร่วงจะเรียกว่า "โอฮางิ" เพราะลักษณะของขนมโมจิคล้ายกับดอกฮางิที่บานในฤดูใบไม้ร่วง


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://nihongokyoshi-net.com/2021/02/23/proverb-enikaitamochi/

絵に描いた餅
(えにかいたもち)

คำอ่าน : เอะนิ ไคตาโมชิ
คำแปล : โมจิในภาพวาด

        สุภาษิตนี้มีความหมายว่า "สิ่งที่เป็นไปไม่ได้, สิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้" มาจากการเปรียบเปรยว่า แม้โมจิในภาพจะดูดีหรือน่ากินเพียงใดก็ได้แต่มองอย่างเดียว ไม่สามารถนำมากินได้ ตัวอย่างการใช้สุภาษิตนี้ในประโยค เช่น この計画は絵に描いた餅に等しい。 (โคโนะ เคกากุวะ เอะนิ ไคตาโมชินิ ฮิโตชี) = แผนการนี้เหมือนกับโมจิในภาพวาด หมายถึง เป็นแผนการที่ดีแต่นำมาใช้จริงไม่ได้

        คำว่า 絵に描いた餅 (เอะนิ ไคตาโมชิ) = โมจิในภาพวาด เรียกสั้น ๆ ได้ว่า 画餅 (กาเบ / กาเฮ) = ภาพวาดโมจิ และเทียบความหมายกับสำนวนภาษาอังกฤษได้ว่า "pie in the sky" (ขนมพายที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า) หรือหากพูดเป็นสำนวนไทยก็คือ "สร้างวิมานในอากาศ" นั่นเอง
 

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.shutterstock.com/image-photo/mochi-314649080

焼き餅焼くとて手を焼くな
(やきもちやくとててをやくな)

คำอ่าน : ยากิโมชิ ยากุโทเตะ เทะโอะ ยากุนะ     
คำแปล : อย่าลวกมือตัวเองตอนย่างโมจิ

        สุภาษิตนี้มีความหมายว่า "ความหึงหวงมากเกินไปส่งผลเสียตามมาได้" มาจากการเปรียบเปรยว่า ความรู้สึกหึงหวงเป็นเหมือนโมจิที่พองตัวขึ้นเมื่อย่างบนเตาร้อน ๆ เพราะฉะนั้นขณะที่ย่างโมจิจึงควรระวังอย่าให้ลวกมือ เช่นเดียวกับการระวังไม่ให้หึงหวงมากเกินไปจนเป็นการทำร้ายตัวเอง ตัวอย่างการใช้สุภาษิตนี้ในประโยค เช่น 焼き餅焼くとて手を焼くな、僕のことを信じられないなら別れよう。 (ยากิโมชิ ยากุโทเตะ เทะโอะ ยากุนะ โบกุโนะ โคโตะโอะ ชินจิราเรไนนาระ วากาเรโย) = อย่าลวกมือตัวเองตอนย่างโมจิ ถ้าไม่เชื่อใจผมก็เลิกกันเถอะ หมายถึง ไม่ควรหึงหวงมากเกินไปจนเกิดความไม่เชื่อใจกัน

        คำว่า 焼き餅 (ยากิโมชิ) มีความหมายตรงตัวว่า "โมจิย่าง" และมีอีกความหมายก็คือ "ความหึงหวง, ความอิจฉา" โดยมาจากการประสมคำว่า 妬く (ยากุ) = อิจฉา กับคำว่า 気持ち (คิโมชิ) = ความรู้สึก เข้าด้วยกัน กลายเป็นคำว่า やきもち ซึ่งมีเสียงอ่านเหมือนคำว่าโมจิย่าง 焼き餅 (ยากิโมชิ) โดยเมื่อนำไปใช้ในประโยคจะใช้คู่กับคำกริยา 焼く(ยากุ) = ย่าง แต่เพื่อไม่ให้สับสนกับความหมายว่า "ย่างโมจิ" จึงนิยมเขียนด้วยอักษรฮิรางานะเป็น やきもちを焼く (ยากิโมชิโอะ ยากุ) เพื่อสื่อถึงความหมายว่า "หึง, อิจฉา" อีกทั้งประโยคนี้ยังเป็นสำนวนที่ใช้บ่อยในภาษาพูด ดังนั้นจึงควรดูบริบทให้ดีว่าผู้พูดหมายถึงความหมายไหนกันด้วยนะ

        เมื่อได้รู้จักความหมายของสุภาษิตต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นผ่านสุภาษิต นอกจากจะเป็นวิธีหนึ่งของการเรียนรู้คำศัพท์แล้ว ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นไปพร้อมกันด้วย เช่น วัฒนธรรมการกินโมจิของชาวญี่ปุ่นที่สื่อให้เห็นผ่านสุภาษิต ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเปรยโมจิเป็นขนมที่สื่อถึงความโชคดี เป็นตัวแทนของสิ่งที่ดี และยังนำลักษณะของโมจิย่างที่พองมาใช้ในความหมายที่น่าสนใจ เรียกได้ว่า นอกจากจะได้เห็นมุมมองทางวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นแล้ว ยังได้รู้จักลักษณะของโมจิมากขึ้นด้วย

ข้อมูลอ้างอิง :
-> https://biz.trans-suite.jp/20606
-> https://gogen-yurai.jp/yakimochi/
-> https://proverb-encyclopedia.com/
-> https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/download/249469/170815
-> https://th.anngle.org/j-gourmet/sweet-dessert/ohagi-botamoji.html


กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press