ศัพท์คันจิที่มากับฝน


        ฤดูกาลของญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นสี่ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว หรือที่มีคำเรียกว่า 四季 (ชิกิ) = สี่ฤดู แต่ที่จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งฤดูกาลที่อยู่ในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน นั่นคือ ฤดูฝน ซึ่งอยู่ประมาณช่วงต้นเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องแทบทุกภูมิภาคของญี่ปุ่น โดยการเคลื่อนตัวของฝนจะเริ่มจากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือและจะอ่อนกำลังลงก่อนถึงภูมิภาคฮอกไกโดที่อยู่ทิศเหนือสุด ด้วยเหตุนี้ ฮอกไกโดจึงเป็นภูมิภาคเดียวของญี่ปุ่นที่ไม่มีฤดูฝน
        ฤดูฝนในญี่ปุ่นมีชื่อเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า 梅雨 (ทสึยุ) มีความหมายตรงตัวว่า ฝนบ๊วย มาจากการประสมคันจิคำว่า (อุเมะ) = บ๊วย กับคำว่า (อาเมะ) = ฝน เข้าด้วยกัน ซึ่งสาเหตุที่คนญี่ปุ่นเรียกฤดูฝนด้วยคำนี้ก็เพราะฤดูกาลนี้ตรงกับช่วงที่ลูกบ๊วยสุกพอดี ไม่เพียงเท่านั้น คำศัพท์ในภาษาญี่ปุ่นยังมีอีกหลายคำที่บอกลักษณะของฝนตามความหมายของอักษรคันจิได้อย่างน่าสนใจและช่วยสื่อความหมายให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่า ถึงฤดูฝนจะไม่ได้เป็น 1 ใน 4 ของฤดูกาลในญี่ปุ่น แต่ก็มีคำศัพท์เกี่ยวกับฝนอยู่ไม่น้อย แถมยังบอกลักษณะของฝนอย่างละเอียดอีกด้วย
        ลองมาดูกันว่า...ศัพท์คันจิด้านล่างนี้ จะหมายถึงฝนในลักษณะใดบ้างนะ

1. 緑雨 (เรียวกุอุ) = ฝนต้นฤดูร้อน

        ศัพท์คำนี้มาจากการประสมคันจิคำว่า (มิโดริ) = สีเขียว กับคำว่า (อาเมะ) = ฝน หากแปลตรงตัวก็คือ ฝนสีเขียว ซึ่งสีเขียวที่ว่านี้สื่อถึงสีของใบไม้ใบหญ้าที่ดูเป็นสีเขียวชอุ่มเมื่อมี “ฝนต้นฤดูร้อน” ตกลงมา ทำให้มองแล้วรู้สึกสดชื่น เย็นสบายนั่นเอง
 


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.shutterstock.com/th/image-photo/tamarind-leaves-sunshine-drizzle-rain-1721781844

 

2. 白雨 (ฮากุอุ) = ฝนที่ตกหนักกะทันหัน

        ศัพท์คำนี้ก็มีคันจิที่เกี่ยวกับสีอีกเช่นกัน นั่นคือคำว่า (ชิโระ) = สีขาว ประสมกับคำว่า (อาเมะ) = ฝน โดยสื่อถึง "ฝนที่ตกหนักกะทันหัน" ในตอนที่ฟ้าสว่าง จึงทำให้มองเห็นเป็นฝนสีขาว นอกจากนี้ยังเรียกอีกอย่างได้ว่า 夕立 (ยูดาชิ) ซึ่งมีความหมายว่า ฝนที่ตกกะทันหันในช่วงเย็น และมักเป็นฝนที่ตกหนักในระยะเวลาสั้น ๆ
 


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://news.merumo.ne.jp/article/genre/11010390

 

3. 煙雨 (เอนอุ) = ฝนตกปรอยๆ

        คำว่า "ฝนตกปรอย ๆ" ในภาษาญี่ปุ่นมีอยู่หลายคำ เช่น 小雨 (โคซาเมะ) 細雨 (ไซอุ) 微雨 (บิอุ) โดยอักษรคันจิตัวหน้าจะเป็นคำที่มีความหมายว่า เล็ก, น้อย, เบาบาง ซึ่งอธิบายลักษณะของฝนอย่างตรงตัว แต่สำหรับคำว่า 煙雨 (เอนอุ) มาจากคำว่า (เคมุริ) = ควัน ประสมกับคำว่า (อาเมะ) = ฝน ให้ความรู้สึกว่าเป็นฝนเม็ดเล็ก ๆ ตกปรอย ๆ ราวกับเป็นควันที่บางเบา
 


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://en.wikipedia.org/wiki/Drizzle

 

4. 洗車雨 (เซนชาอุ) = ฝนที่ตกในวันที่ 6 กรกฎาคม

        วันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปีตรงกับวันเทศกาลสำคัญของญี่ปุ่น นั่นคือ “เทศกาลทานาบาตะ” (七夕) ซึ่งเป็นเทศกาลที่จัดงานเฉลิมฉลองทั่วประเทศ และชาวญี่ปุ่นจะเขียนคำอธิษฐานบนกระดาษขอพรสีสันต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ทันซากุ” (短冊) เพื่อนำไปผูกไว้กับกิ่งไผ่ ตามความเชื่อที่ว่าดาวสองดวงที่เป็นตัวแทนของสาวทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัวจะได้กลับมาพบกันปีละ 1 ครั้งในวันนี้ หากขอพรจากดวงดาวในวันทานาบาตะ คำอธิษฐานก็จะเป็นจริงตามไปด้วย
        ดังนั้นจึงมีคำศัพท์ที่เรียก “ฝนที่ตกในวันที่ 6 กรกฎาคม” ว่า “ฝนล้างรถ” ตามความหมายของการประสมคันจิคำว่า 洗車 (เซนชะ) = การล้างรถ กับคำว่า (อาเมะ) = ฝน ซึ่งเปรียบเทียบว่าฝนที่ตกในวันก่อนหน้าวันทานาบาตะคือน้ำล้างเกวียนของหนุ่มเลี้ยงวัวก่อนที่จะเดินทางมาพบสาวทอผ้า แต่หากฝนตกในวันทานาบาตะจะเรียกว่า催涙雨 (ไซรุยอุ) หรือฝนที่เปรียบเสมือนน้ำตาของพวกเขาทั้งสองที่ไม่สามารถข้ามแม่น้ำแห่งสวรรค์ (ทางช้างเผือก) มาพบกันได้ในวันฝนตก จึงต้องรอพบกันใหม่ในปีต่อไป
 


ขอบคุณรูปภาพจาก –
https://blog.ishikawa-tv.com/sp/refresh2016/broadcast/detail/8790/

 

        ศัพท์คันจิที่บอกลักษณะของฝนเหล่านี้เป็นคำศัพท์ที่มักพบได้ในบทกวีไฮกุ ซึ่งประพันธ์เกี่ยวกับความงดงามของธรรมชาติรอบตัว โดยเมื่อนำอักษรคันจิมาประสมกันแล้วจะอ่านเป็นเสียงแบบจีน และความหมายของคันจิแต่ละตัวก็เปรียบเปรยลักษณะของฝนได้อย่างมีเรื่องราว เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของอักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง :
→ https://blog.ishikawa-tv.com/sp/refresh2016/broadcast/detail/8790/
https://kotobank.jp/word/煙雨-447302
https://matcha-jp.com/th/2529
https://news.merumo.ne.jp/article/genre/11010390
https://we-xpats.com/th/guide/as/jp/detail/7143/
https://www.shigaliving.co.jp/city/life/13238.html

กุลวรากร เอกอัครากุล / TPA Press