เบื้องลึก เบื้องหลัง คำทักทายภาษาญี่ปุ่น (ภาค 2)


        อย่างที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วว่าคำทักทายในภาษาญี่ปุ่นไม่ได้มีเพียงแค่ “สวัสดี” “ราตรีสวัสดิ์” และ “ลาก่อน” เท่านั้น แต่ยังมีคำทักทายอื่น ๆ ที่ได้ยินกันจนคุ้นหู พูดกันจนคุ้นปากอีกหลายคำที่มีความหมายและความเป็นมาที่น่าสนใจ ว่าแต่จะมีคำไหนบ้าง ตามมาดูกันเลย

        คำทักทายคำแรกที่จะพูดถึงในตอนนี้คือ ありがとう (อาริงาโต) เขียนเป็นคันจิได้ว่า 有り難う ใช้กล่าวแสดงความรู้สึกขอบคุณเมื่ออีกฝ่ายให้หรือทำอะไรให้เรา ฯลฯ รูปคำเดิมมาจาก 有り難し (อาริงาตาชิ) แล้วมีการเปลี่ยนเสียงท้ายคำให้เป็นเสียง (อุ) “อาริงาตาชิ” เป็นคำคุณศัพท์ แปลเป็นไทยได้ว่า “แทบจะไม่มี แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น โอกาสที่จะมีอยู่หรือเกิดขึ้นมีน้อยมาก” ในยุคกลางคนญี่ปุ่นใช้คำนี้แสดงความรู้สึกขอบคุณต่อเทพเจ้าที่บันดาลให้เกิดปาฏิหาริย์หรือเหตุการณ์ที่แทบจะไม่น่าเกิดขึ้นได้ แต่ตั้งแต่ยุคใหม่เป็นต้นมาคนญี่ปุ่นใช้ “อาริงาโต” แสดงความรู้สึกขอบคุณกันโดยทั่วไปจนถึงปัจจุบัน

01

https://www.irasutoya.com


        มาต่อกันที่คำว่า すみません (ซุมิมาเซน) เขียนเป็นคันจิได้ว่า 済みません เป็นคำทักทายที่ใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ ทั้งขอโทษ ขอบคุณ และขอร้องไหว้วานผู้อื่น เป็นต้น มาจากคำกริยา 済む (ซุมุ) ซึ่งมีความหมายว่า “งานเสร็จสิ้นแล้ว” “ความรู้สึกสงบลงแล้วหรือบรรเทาลงแล้ว” “รู้สึกพึงพอใจ” เมื่อนำมาผันเป็นรูปปฏิเสธ すみません และใช้ในการขอโทษจะแฝงความรู้สึกที่ว่า “ความรู้สึกของตนเองยังไม่บรรเทาลง ยังไม่พึงพอใจ” แต่ถ้าใช้ในการขอบคุณจะแฝงความรู้สึกว่า “ความรู้สึกของตนเองยังไม่สงบหรือบรรเทาลง เนื่องจากไม่สามารถแสดงการขอบคุณอย่างยิ่งใหญ่ได้” โดยระยะหลังมานี้ คนญี่ปุ่นเริ่มใช้รูปประโยค すみませんが、~してください (ซุมิมาเซนงะ, ~ ชิเต๊ะคุดาไซ) เมื่อต้องการขอร้องไหว้วานให้ผู้อื่นช่วยทำอะไรบางอย่าง หรือพูดแค่ “ซุมิมาเซน” สั้น ๆ เพื่อเรียกผู้อื่น
 

02

https://www.ac-illust.com


        ต่อไปเป็นคำทักทายที่มักได้ยินคนญี่ปุ่นพูดอยู่บ่อย ๆ เวลาจะรับประทานอาหาร ใช่แล้วละ นั่นคือคำว่า いただきます (อิตาดาคิมัส) ซึ่งเขียนเป็นคันจิได้ว่า 戴きます หรือ 頂きますมาจากคำกริยา いただく (อิตาดาคุ) แต่เดิมมีความหมายว่า “ทูนไว้เหนือศีรษะ” แต่ตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมาถูกนำมาใช้ในความหมายว่า “ได้รับ” ซึ่งมีที่มาจากท่าทางที่แสดงเมื่อได้รับสิ่งของจากผู้ที่มีฐานะหรือตำแหน่งสูงกว่าโดยทูนไว้เหนือศีรษะ ต่อมาคำนี้ถูกนำมาใช้เป็นคำถ่อมตัวของคำว่า “กิน ดื่ม” ซึ่งก็มีที่มาจากท่าทางที่แสดงเมื่อจะนำอาหารที่นำไปถวายเทพเจ้ามารับประทานโดยทูนไว้เหนือศีรษะเช่นกัน และสุดท้าย “อิตาดาคิมัส” ได้กลายมาเป็นคำทักทายก่อนจะลงมือรับประทานอาหารที่พูดกันจนคุ้นปากในปัจจุบัน ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นพูดคำว่า “อิตาดาคิมัส” เพื่อแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อทุกคนที่มีส่วนทำให้เกิดอาหารมื้อนั้น ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำอาหาร คนที่ปลูกผัก คนที่จับปลามาให้เรา รวมถึงขอบคุณวัตถุดิบที่ถูกนำมาทำเป็นอาหารให้รับประทานด้วย ทั้งเนื้อสัตว์ ปลา พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ เพราะเชื่อกันว่าวัตถุดิบที่ถูกนำมาทำอาหารก็เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นกัน
 

03

https://www.irasutoya.com


        ในเมื่อมีคำทักทายก่อนจะเริ่มรับประทานอาหาร ก็ต้องมีคำทักทายหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน นั่นคือคำว่า ごちそうさま (โกะจิโซซามะ) เขียนเป็นคันจิได้ว่า 御馳走様คำว่า ちそう (จิโซ) แต่เดิมมีความหมายว่า “การวิ่งวนไปมา” “การวิ่งวุ่น” ถูกนำมาใช้ในความหมายของ “การเลี้ยงอาหาร” เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากและความวุ่นวายในการจัดเตรียมอาหารสำหรับเลี้ยงรับรองแขก เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีตู้เย็นและซูเปอร์มาร์เกตอย่างในปัจจุบัน ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของสมัยเอโดะได้มีการเติมคำว่า (โกะ) และ さま (ซามะ) ไว้หน้าและหลังคำว่า ちそう กลายเป็น ごちそうさま และใช้พูดหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่จัดเตรียมอาหารให้รับประทานจนกระทั่งปัจจุบัน

04

https://www.irasutoya.com


        ปิดท้ายกันที่คำว่า もしもし (โมชิโมชิ) ที่หลายคนคงสงสัยว่าคำนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมคนญี่ปุ่นถึงพูดคำนี้เวลารับสายโทรศัพท์ ? “โมชิโมชิ” เขียนเป็นคันจิได้ว่า 申し申し จริง ๆ แล้วมาจากคำกริยา もうす (โมซุ) ซึ่งเป็นรูปถ่อมตัวของ 言う (อีอุ) ที่แปลว่า “พูด” แล้วเปลี่ยน (ซุ) ท้ายคำเป็น (ชิ) ใช้พูดเพื่อส่งสัญญาณบอกอีกฝ่ายที่โทรมาว่า “เดี๋ยวจะพูดแล้วนะ” ว่า もうします、もうします (โมชิมัส, โมชิมัส) หรือ もうす、もうす (โมซุ, โมซุ) ต่อมาจึงย่อให้สั้นลงเหลือแค่ “โมชิโมชิ” ว่ากันว่าในช่วงที่เริ่มมีการใช้โทรศัพท์ในญี่ปุ่นใหม่ ๆ ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการระดับสูงหรือนักธุรกิจ เวลารับสายโทรศัพท์ก็จะพูดว่า おいおい (โอยโอย) และอีกฝ่ายก็จะตอบกลับมาว่า はい、ようござんす (ไฮ่, โยโงซันสุ) ต่อมาภายหลังจึงค่อยเปลี่ยนเป็นคำว่า “โมชิโมชิ” เพื่อไม่เป็นการเสียมารยาทต่ออีกฝ่าย
 

05

https://www.irasutoya.com


ภาณิการ์ สุรรังสิกุล TPA Press