รู้จักกับ...ป้ายทะเบียนรถยนต์ของญี่ปุ่น


        ใครที่เคยขับรถเที่ยวในญี่ปุ่นคงเคยสงสัยว่า ทำไม "ป้ายทะเบียนรถยนต์" ของญี่ปุ่นถึงมีหลายสีจัง ทั้งขาว เขียว เหลือง ดำ แถมสีตัวอักษรบนป้ายก็ยังต่างกันอีกต่างหาก (จะว่าไป ป้ายทะเบียนรถยนต์ของไทยเราก็หลากสีไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว) จริง ๆ แล้วที่เขาใช้สีต่างกันก็เพื่อจำแนกประเภทการใช้งานรถยนต์นั่นเอง แล้วแผ่นป้ายแต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันยังไง และมีข้อมูลอะไรอยู่บ้างนั้น ตามมาดูกันเลย
 

 photo 00_zpsgheyrsx1.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://tasuki-inc.com/number/


        "ป้ายทะเบียนรถยนต์" เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ナンバープレート (นัมบา พุเรโตะ) ใช้แสดงว่ารถยนต์คันนั้นได้รับการจดทะเบียน และผ่านการตรวจสอบมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ณ ช่วงเวลาที่จดทะเบียนแล้ว ประเภทของป้ายทะเบียนรถยนต์ที่พบเห็นได้บ่อยมีอยู่ 4 ชนิด แบ่งตามปริมาตรของกระบอกสูบ (CC) และการใช้งานรถยนต์ ดังนี้

        1) ป้ายขาวอักษรเขียว – รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ความจุมากกว่า 660 CC
        2) ป้ายเหลืองอักษรดำ – รถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็ก ความจุน้อยกว่า 660 CC

 

 photo 02_zpsc4ar5adx.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://cobby.jp/licenseplate-type.html


        3) ป้ายเขียวอักษรขาว – รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ความจุมากกว่า 660 CC
        4) ป้ายดำอักษรเหลือง – รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ความจุน้อยกว่า 660 CC

 

 photo 03_zpsvamjr6xw.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://cobby.jp/licenseplate-type.html


        อ้อ ยังมีป้ายทะเบียนรถยนต์อีกประเภทที่อาจไม่ได้พบเห็นบ่อยนัก นั่นคือ ป้ายน้ำเงินอักษรขาว ซึ่งเป็นป้ายทะเบียนสำหรับรถยนต์ของสถานทูตซึ่งได้รับสิทธิคุ้มครองทางการทูตนั่นเอง
 

 photo 04_zpsabjtja6b.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก
http://okaokakun.hatenablog.com/entry/2015/06/22/121355

 
      ทีนี้มาดูกันว่าบนป้ายทะเบียนรถยนต์ของญี่ปุ่นมีข้อมูลอะไรระบุไว้บ้าง

 

 photo 05_zpserrnbstp.png

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://gaisya-suteki.com/kuruma-number-imi-6953


        จากภาพประกอบข้างต้น บรรทัดบนจะระบุชื่อเขตพื้นที่ของกรมการขนส่งที่จดทะเบียนรถยนต์ (1) ตามด้วยเลขหมวดหมู่ (2) ส่วนบรรทัดล่างจะระบุประเภทการใช้งานรถยนต์ด้วยอักษรฮิรางานะ (3) แล้วตามด้วยเลขทะเบียนรถยนต์ (4) และเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีความจุมากกว่า 660 CC จะต้องมี หมุดตราประทับ ของกรมการขนส่งติดอยู่กับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ (หลัง) ด้วย อ๊ะ ๆ อย่าเพิ่งสงสัยว่าทำไมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กที่มีความจุน้อยกว่า 660 CC ไม่ต้องติดเจ้าหมุดนี่ นั่นก็เพราะตามกฎหมายญี่ปุ่นแล้ว รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีความจุมากกว่า 660 CC ถือเป็นทรัพย์สิน (สังหาริมทรัพย์) เทียบได้กับที่ดิน อาคาร เงิน ฯลฯ ต่างจากรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กที่ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ครอบครองนั่นเอง
 

 photo 06_zpsv5myehn0.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://matome.response.jp/articles/728


        ส่วนตัวอักษรและตัวเลขบนป้ายทะเบียนรถยนต์ มีอักษรฮิรางานะต้องห้ามอยู่ 4 ตัวที่ไม่ถูกนำมาใช้ นั่นคือ 「お (โอะ)」「し (ชิ)」「へ (เฮะ)」 และ 「ん (อึน)」 โดยมีเหตุผลคือ อักษร お (โอะ) มีหน้าตาคล้ายอักษร あ (อะ) จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ อักษร し (ชิ) มีเสียงพ้องกับคำว่า "ตาย" ในภาษาญี่ปุ่น จึงถือว่าไม่เป็นมงคล อักษร へ (เฮะ) ก็มีเสียงพ้องกับคำว่า "ผายลม" ในภาษาญี่ปุ่น และอักษร ん (อึน) ออกเสียงลำบาก จึงไม่ถูกนำมาใช้ ส่วนตัวเลขต้องห้ามที่คนญี่ปุ่นไม่นิยมใช้คือ 49 ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า 死苦 (ชิคุ) ที่แปลว่า "ความทุกข์ทรมานก่อนตาย" และ 42 ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า 死に (ชินิ) ที่แปลว่า "ไปตาย" ...โอ้โฮ พอรู้ความหมายในภาษาญี่ปุ่นแล้ว หลายคนคงแทบอยากเปลี่ยนเลขทะเบียนรถยนต์ทันที แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกนะ !

        เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้ออกแบบป้ายทะเบียนรถยนต์แบบใหม่มาทั้งสิ้น 41 แบบ โดยนำทิวทัศน์และแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคมาใช้เป็นลวดลายพื้นหลัง เช่น เชอร์รี่แสนอร่อยของ จ.ยามางาตะ คุมะมงสุดน่ารักของ จ.คุมาโมโตะ เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มให้ประชาชนลงทะเบียนขอคัดป้ายทะเบียนรถยนต์แบบใหม่ล่วงหน้าได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 และสามารถเปลี่ยนป้ายใหม่ได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป โดยค่าธรรมเนียมในการขอคัดป้ายใหม่นี้อยู่ที่ประมาณ 7,280-8,600 เยน (ประมาณ 2,200-2,600 บาท) แล้วแต่ภูมิภาค ซึ่งป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับนี้จะเป็นป้ายขาวดำ แต่ถ้าบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการปรับปรุงจราจรขั้นต่ำ 1,000 เยน (ประมาณ 300 บาท) ก็จะได้ป้ายทะเบียนสีสันสวยงามไปครอง

 

 photo 07_zps1xajmjkq.png

(ซ้าย) บริจาคเงิน        (ขวา) ไม่บริจาคเงิน
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://car-moby.jp/267121


        และเมื่อป้ายทะเบียนรถยนต์มีลวดลายสวยงามมาแทนสีพื้น แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่ารถยนต์แต่ละคันใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ? เรื่องนี้ไม่ยากเลย แค่สังเกตสีที่ล้อมรอบกรอบป้ายทะเบียนรถยนต์ก็เป็นอันจบ โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ความจุมากกว่า 660 CC จะไม่มีสีสันที่กรอบ เพราะเดิมก็เป็นพื้นขาวอยู่แล้ว ส่วนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กจะมีกรอบสีเหลือง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ความจุมากกว่า 660 CC จะมีกรอบสีเขียวล้อมรอบอยู่ เท่านี้ก็แยกประเภทการใช้งานรถยนต์ได้ง่าย ๆ แล้ว
 

 photo 08_zpsi74s7tgj.jpg

 photo 09_zpsyxtfewzv.jpg

 photo 10_zpshpkow0dm.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก
http://www.pref.kyoto.jp/keikaku/news/20180904.html


        ภาพด้านล่างนี้คือหน้าตาของป้ายทะเบียนรถยนต์ทั้ง 41 แบบ และคาดว่าภายในปี 2020 จะมีลวดลายใหม่ของภูมิภาคที่เหลือออกมาอีก 17 แบบ
 

 photo 11_zpsvrbvrmaq.png

ขอบคุณรูปภาพจาก - 国土交通省 : http://www.mlit.go.jp

 

ภาณิการ์ สุรรังสิกุล TPA Press