ปทานุกรมศัพท์ช่าง ญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษ ฉบับปรับปรุง
กลับมาอีกครั้งกับหนังสือระดับตำนานของสำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม ส.ส.ท. ที่ห่างหายจากเชลฟ์หนังสือไปนานพอสมควร เพราะถึงเวลาที่ต้องหลบไปโมหน้า-อัปไซส์ เอ๊ย! อัปเกรดกันใหม่เสียที
ที่บอกว่าเป็นหนังสือระดับตำนาน เพราะเล่มนี้อยู่คู่กับ ส.ส.ท. มาตั้งแต่ยุคก่อตั้ง เรียกว่าเกิดมาพร้อมกันเลยก็ว่าได้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 46 ปี หนังสือ "ปทานุกรมศัพท์ช่าง ญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษ" ได้มีการแปลงร่าง รื้อเครื่องใหม่อยู่หลายครั้ง ดูจากพัฒนาการก็คงจะเห็นภาพแล้วว่า ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย สมกับอายุที่มากเกือบครึ่งศตวรรษจริง ๆ
ขอบคุณภาพจาก : FB Mister JAPAN
อะไรที่เปลี่ยนไป
เล่าประวัติมาพอหอมปากหอมคอ คงนึกสงสัยแล้วสิ ที่ว่าไปโม (ดิฟายด์) มาใหม่ แล้วมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง อย่างแรกเลยคือลุคส์ที่เปลี่ยนไป
• ขนาดกระชับมือขึ้น สามารถถือหนังสือและกรีดเปิดด้วยมือข้างเดียวได้ (เผื่อว่ามืออีกข้างยังไม่ว่าง ก็ค้นหาคำศัพท์ได้นะ)
• รูปแบบ ขนาดตัวอักษร และการออกแบบด้านในก็ดูสบายตาและอ่านง่ายขึ้น
อย่างที่สองคือ การปรับปรุงเนื้อหา โดยถอดศัพท์เดิมที่ไม่ค่อยได้ใช้หรือพบเห็นในปัจจุบัน แล้ว และแทนด้วยศัพท์ใหม่ที่คุ้นเคยและน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า รวมถึงแก้ไขคำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้เป็นศัพท์เฉพาะที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
มีวิธีใช้อย่างไร
สำหรับวิธีใช้ยังคงรูปแบบเดิม คือเป็นการเรียงลำดับตามเสียงอ่านในภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก ดังนั้นจึงใช้งานง่าย เช่น บังเอิญนายช่างน้องใหม่ได้ยินรุ่นพี่คุยกับนายชาวญี่ปุ่นที่ถามเกี่ยวกับเครื่องจักรตัวใหม่ว่า 定期検査はいつ行われるの? พอจะจับใจความได้ เขาคุยกันว่า "ทำ...teikikensa...เมื่อไร" ซึ่งรุ่นพี่ตอบไปว่า "ทุก 1 เดือน"
ด้วยความที่เพิ่งมาใหม่จึงไม่คุ้นกับศัพท์คำว่า "teikikensa" แน่นอนตัวคันจิก็ไม่รู้จัก อักษรฮิรางานะก็ยังไม่แม่น และพจนานุกรมทั่วไปมักจะเรียงลำดับตามตัวอักษรในภาษาญี่ปุ่น การค้นหาความหมายจึงไม่ง่ายสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น แต่สำหรับ "ปทานุกรมศัพท์ช่างฯ" ซึ่งเรียงตามเป็นอักษรโรมันหรืออักษรภาษาอังกฤษที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เมื่อได้ยินคำว่า "tei-ki-ken-sa" ก็สามารถค้นหาความหมายโดยไล่เปิดจากอักษรตัว T เรียงลำดับตามตัวอักษรภาษาอังกฤษไปทีละตัว ก็จะพบคำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ไม่ยาก
หรืออาจจะไม่ได้เริ่มจากคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นก็ได้ เช่น อยากรู้ว่า "เครื่องคว้านรู หรือ boring machine" ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร ก็สามารถดูจากดัชนีคำศัพท์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่อยู่ท้ายเล่ม
เหมาะกับใครบ้าง
แน่นอน ตามชื่อก็บอกอยู่แล้ว "ปทานุกรมศัพท์ช่างฯ" กลุ่มแรกจึงเหมาะสำหรับช่างเทคนิคชาวไทยทั้งหลายที่มีอุปสรรคในการสื่อสารด้วยภาษาญี่ปุ่น
ถัดไปคือกลุ่มล่ามโรงงานน้องใหม่ ที่คุ้นเคยแต่ศัพท์ที่ใช้ติดต่อธุรกิจการค้า พอมาเจอศัพท์เทคนิคแปลก ๆ ย่อมไปไม่เป็นแน่นอน จริง ๆ ไม่เฉพาะภาษาญี่ปุ่นหรอก ไม่ว่าศัพท์เทคนิคภาษาไหนก็จะมีคำเฉพาะที่ใช้ในวงการ จึงใช่ว่าจะแปลให้เข้าใจกันได้ง่าย ๆ
ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่ใช้ประโยชน์ได้เช่นกันและอยากแนะนำคือ นายช่างชาวญี่ปุ่นที่ต้องสอนงานหรือทำงานร่วมกับชาวไทย เพราะในคำแปลภาษาไทยมีเสียงอ่านโฟเนติกส์ (คำอ่านเป็นอักษรโรมัน)กำกับไว้ด้วย แม้จะอ่านภาษาไทยไม่ออกก็สามารถสื่อสารให้เข้าใจตรงกันได้
ซึ่งเล่มนี้ได้รวบรวมศัพท์เทคนิคหลากหลายด้าน ทั้งด้านเครื่องกล เครื่องยนต์ ไฟฟ้า รวมถึงโลหะและวัสดุ รวม 3 ภาษาแล้วมีคำศัพท์มากถึง 8,900 คำ แบ่งเป็น
• ภาษาญี่ปุ่น 2,834 คำ
• ภาษาไทย 3,131 คำ
• ภาษาอังกฤษ 2,935 คำ
เพราะใช้ง่ายและสะดวก เรียกว่าไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ภาษาญี่ปุ่นมากนักก็นำไปใช้ประโยชน์ในงานได้ทันที ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน และยังคงได้รับการจัดพิมพ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน หวังว่าการกลับมาในเวอร์ชันใหม่นี้จะยังคงคุณค่าและสาระประโยชน์ต่อช่างเทคนิครวมถึงล่ามหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการได้เหมือนเช่นที่เคยเป็นมา
ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ : ปทานุกรมศัพท์ช่าง ญี่ปุ่น-ไทย-อังกฤษ (ฉบับปรับปรุง)
จำนวนหน้า : 472 หน้า
ราคา : 350 บาท
ISBN : 978-974-443-768-6
พรรณพิมล กิจไพฑูรย์ for TPA Press