เด็กอายุครบ 100 วันต้องให้กินหิน !!?

 

        คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการถือเคล็ดต่าง ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรค่อนข้างมาก เป็นเพราะอยากให้แม่และทารกที่คลอดออกมาปลอดภัย ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยก่อนอัตราการตายของทารกแรกเกิดสูงมาก คนในครอบครัวจึงคอยเฝ้าดูและปรารถนาให้เด็ก ๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของตนเติบโตขึ้นมาอย่างปลอดภัย จึงเป็นที่มาของประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ มากมายที่จัดขึ้นภายหลังเด็กเกิด

        เมื่อเด็กเกิดมาถึงคืนวันที่ 7 หรือที่เรียกว่า お七夜 (โอะชิชิยะ) จะมีการทำพิธีตั้งชื่อให้เด็ก และเมื่อถึงวันที่ 14 นับจากวันคลอดซึ่งเป็นวันแจ้งเกิดวันสุดท้ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จะนำกระดาษที่เขียนชื่อเด็กไปติดไว้ในห้องของเด็กเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นก็จะเก็บรักษากระดาษแผ่นนี้ไว้กับสายสะดือของเด็ก
 

01

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://e-shirokiya.com/ot_mame_kodomo.html


        ระหว่างที่เด็กอายุยังไม่ครบ 100 วันจะมีพิธีรายงานการเกิดของเด็กให้เทพเจ้าท้องถิ่นทราบ เรียกว่าพิธี お宮参り (โอะมิยะไมริ) บางท้องถิ่นกำหนดให้พาเด็กผู้ชายไปเมื่ออายุครบ 31 วัน และเด็กผู้หญิงเมื่ออายุครบ 32 วัน อย่างไรก็ตาม บางท้องถิ่นก็กำหนดให้เป็น 7 วัน 15 วัน 100 วัน หรือ 1 ปี แตกต่างกันไปแล้วแต่ท้องถิ่นนั้น ๆ

02

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://www.irasutoya.com/


        มาถึงพิธีกรรมสำคัญอีกพิธีหนึ่งซึ่งเป็นหัวข้อของเกร็ดความรู้ในคราวนี้ นั่นคือพิธี お食い初め (โอะคุยโซเมะ) ที่จะทำเพียงครั้งเดียวในชีวิต เป็นพิธีให้เด็กทารกกินอาหารอย่างอื่นที่ไม่ใช่นมแม่เป็นครั้งแรกหลังจากที่มีอายุครบ 100-120 วัน ซึ่งการกำหนดวันประกอบพิธีจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น โดยพิธีโอะคุยโซเมะนี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยเฮอัน


        พิธีโอะคุยโซเมะจัดขึ้นเพื่ออวยพรให้เด็ก ๆ ไม่อดอยากและมีอาหารกินไปตลอดชีวิต โดยอาหารที่จะนำมาให้เด็กกินประกอบด้วยข้าวแดงเซกิฮัง ปลาย่าง (มักเป็นปลาไท เนื่องจากมีสีแดงซึ่งเป็นมงคล) ซุปใส และอาหารจำพวกผักต้มอีก 2 อย่าง นอกจากนี้ยังวางก้อนหินเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1-5 ซม. จำนวน 1-2 ก้อน ที่เรียกว่า 歯固めの石 (ฮะงาตาเมะ โนะ อิชิ) เคียงมาด้วย เป็นการถือเคล็ดให้ฟันน้ำนมที่เพิ่งขึ้นมีความแข็งแกร่งเหมือนหิน เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าฟันที่แข็งแรงจะทำให้มีอายุยืนยาว
 

03

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://okuizome.jp/delivery/okuizomeset/


        อย่างไรก็ตาม อาหารรวมทั้งก้อนหินที่เตรียมไว้เหล่านี้ เด็กยังกินไม่ได้ ในการประกอบพิธี พ่อแม่จึงแค่นำตะเกียบมาแตะอาหารและหิน แล้วทำท่าป้อนให้เด็กกินพอเป็นพิธีเท่านั้น โดยป้อนตามลำดับเริ่มจากข้าว ซุปใส ข้าว ปลาย่าง ข้าว และซุปใส แล้วทำเหมือนเดิมซ้ำ 3 ครั้ง จากนั้นจึงทำท่าป้อนหินให้เด็กกินก็เป็นอันจบพิธี

04

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.ac-illust.com/main/detail.php?id=966485&word=%E3%81%8A%E9%A3%9F%E3%81%84%E5%88%9D%E3%82%81


        หลายคนคงสงสัยว่าแล้วต้องไปหาหินฮะงาตาเมะ โนะ อิชิมาจากที่ไหน เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะสามารถไปขอที่ศาลเจ้าที่พาเด็กไปทำพิธีโอะมิยะไมริ หรือไปเก็บตามศาลเจ้าหรือริมแม่น้ำใกล้ ๆ บ้านก็ได้ แต่เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว ก็ควรทำความสะอาดแล้วนำไปคืนที่เดิมเพื่อเป็นการขอบคุณ นอกจากนี้ ในบางท้องถิ่นอาจใช้หมึกยักษ์ หอยอาวาบิ บ๊วยเค็ม โมจิสีขาว เกาลัด หรือเม็ดหมากล้อมแทนหินฮะงาตาเมะ โนะ อิชิก็ได้

 

05

 06

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://okuizome.jp/hagatame/ และ 
https://okuizome.jp/delivery/okuizomeset/


        มีข้อควรระวังอีกนิดเกี่ยวกับภาชนะใส่อาหารสำหรับเด็ก โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะใช้ภาชนะที่เคลือบทั้งด้านในและด้านนอกเป็นสีแดง ส่วนเด็กผู้หญิงจะใช้ภาชนะที่เคลือบด้านในเป็นสีแดงและด้านนอกเป็นสีดำ อย่างไรก็ตาม ในบางท้องถิ่นก็มีธรรมเนียมใช้ภาชนะสลับสีกันระหว่างเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง
 

07

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://okuizome.jp/dish/


        ปัจจุบัน การทำพิธีโอะคุยโซเมะสะดวกและง่ายดายขึ้นมาก เพราะมีร้านที่รับจัดชุดอาหารโอะคุยโซเมะพร้อมอุปกรณ์ให้บริการจัดส่งถึงบ้านมากมาย


ข้อมูลอ้างอิง :
หนังสือ Shikitari ส่องวิถีพิธีญี่ปุ่น, 
https://okuizome.jp


ภาณิการ์ สุรรังสิกุล TPA Press