เบื้องลึก เบื้องหลัง คำทักทายภาษาญี่ปุ่น


        ยังจำกันได้ไหมว่าตอนที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นใหม่ ๆ ถ้าไม่นับตัวอักษรฮิรางานะกับอักษรคาตากานะแล้ว ภาษาญี่ปุ่นคำแรก ๆ ที่เราได้รู้จักคืออะไร สำหรับหลาย ๆ คน คิดว่าน่าจะเป็น คำทักทาย หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า あいさつ (ไอซัทสึ) อย่างเช่น おはよう (โอะฮาโย) こんにちは (คนนิจิวะ) こんばんは (คมบังวะ) และ さようなら (ซาโยนาระ) เป็นต้น แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าจริง ๆ แล้วคำทักทายเหล่านี้มีความหมายหรือความเป็นมาอย่างไร

01

ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://www.irasutoya.com


        เริ่มต้นกันที่คำทักทายในตอนเช้า おはよう (โอะฮาโย) หรือ おはようございます (โอะฮาโย โกไซมัส) เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของสมัยเอโดะ เขียนเป็นคันจิได้ว่า お早うใช้ทักทายคนที่มาถึงก่อนหน้าเราหรือคนที่เพิ่งได้เจอกันเป็นครั้งแรกของวัน โดยแฝงความหมายว่า "มาเช้าจังเลยนะ" "ขอบคุณที่เหน็ดเหนื่อยตั้งแต่เช้า" เราสามารถทักทายว่า "โอะฮาโย" ได้ตั้งแต่เช้าจนถึง 11.00 น. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสามารถใช้ทักทายคนที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรกของวันได้ ในบางวงการหรือบางธุรกิจจึงทักทายคนที่เจอกันเป็นครั้งแรกของวันด้วย "โอะฮาโย" แม้จะเป็นเวลากลางคืนก็ตาม

02

ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://illustrain.com


        มาต่อกันที่คำทักทายในตอนกลางวัน こんにちは (คนนิจิวะ) เขียนเป็นคันจิได้ว่า 今日は ใช้ทักทายคนที่พบเจอในระหว่างวันหรือเวลาไปเยี่ยมเยียนบ้านของคนรู้จักในตอนกลางวัน แต่เดิมจะพูดกันเป็นประโยคยาว ๆ ว่า 今日はご機嫌いかがですか (คนนิจิ วะ โกะคิเงน อิคางะเดสก๊ะ) แปลตรงตัวเป๊ะ ๆ ได้ว่า วันนี้อารมณ์ของคุณเป็นอย่างไรบ้าง หรือ 今日はよいお天気ですね (คนนิจิ วะ โย่ย โอะเทงกิเดสเนะ) แปลเป็นไทยได้ว่า วันนี้อากาศดีนะ ต่อมาประโยคหลังถูกละเอาไว้ เหลือเพียงแค่คำว่า "คนนิจิวะ" พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงถึงบางอ้อแล้วสินะ ว่าทำไมคำทักทายนี้ถึงเขียนว่า こんにちは ไม่ใช่ こんにちわ และอ่านว่า "คนนิจิวะ" ไม่ใช่ "คนนิจิฮะ" นั่นเป็นเพราะ は อยู่ในฐานะของคำช่วยในประโยคที่มีการละส่วนหลังนั่นเอง

03

ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://illustrain.com


        คำทักทายในตอนเย็นคือ こんばんは (คมบังวะ) เขียนเป็นคันจิได้ว่า 今晩は ใช้ทักทายคนที่พบเจอในช่วงเวลาหลังพระอาทิตย์ตกหรือเวลาไปเยี่ยมเยียนบ้านของคนรู้จักในตอนเย็นหรือค่ำ และเช่นเดียวกับคำว่า "คนนิจิวะ" ที่แต่เดิมจะพูดกันเป็นประโยคยาว ๆ ว่า 今晩はいい夜です (คมบัง วะ อี โยรุเดส) แปลเป็นไทยได้ว่า คืนนี้เป็นค่ำคืนที่ดี 今晩は良い晩ですね (คมบัง วะ โย่ย บังเดสเนะ) แปลเป็นไทยได้ว่า คืนนี้เป็นค่ำคืนที่ดีนะ หรือ 今晩はご無事に一日をお過ごしになっていい夜をお迎えになりましたね (คมบัง วะ โกะบุจิ นิ อิจินิจิ โอ๊ะ โอะซุโงชิ นิ นัตเต๊ะ อี โยรุ โอ๊ะ โอะมุกาเอะ นิ นาริมาชิตะเนะ) ซึ่งเป็นคำอวยพรขอให้อีกฝ่ายได้มีค่ำคืนที่ดีหลังจากที่ได้ดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยมาตลอดทั้งวัน ต่อมาประโยคหลังถูกละเอาไว้ เหลือเพียงแค่คำว่า "คมบังวะ"

04

ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://illustrain.com


        เมื่อจะเข้านอน คนญี่ปุ่นก็มีคำกล่าวทักทายเช่นกัน โดยจะพูดว่า おやすみ (โอะยาซุมิ) หรือ おやすみなさい (โอะยาซุมินาไซ) เขียนเป็นคันจิได้ว่า 御休み หรือ 御休みなさい ใช้กล่าวราตรีสวัสดิ์ก่อนจะเข้านอนหรือกล่าวอำลาผู้อื่นในตอนกลางคืน แต่เดิมเป็นคำที่เจ้าของที่พักแรมใช้กล่าวทักทายก่อนที่แขกที่มาพักจะเข้านอนว่า ゆっくりとお休みになられて下さいね (ยุกคุริ โตะ โอะยาซุมิ นิ นาราเรเต๊ะ คุดาไซเนะ) แปลเป็นไทยได้ว่า ขอให้นอนหลับพักผ่อนให้สบายนะ ต่อมาประโยคยาว ๆ ก็ถูกย่อให้เหลือเพียงแค่คำว่า "โอะยาซุมินาไซ" และใช้กันทั่วไป แต่ถ้าจะพูดกับคนที่สนิทสนมกันจะใช้ว่า "โอะยาซุมิ" สั้น ๆ ก็ได้

05

ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://illustrain.com


        เอาละ !! มาถึงคำทักทายคำสุดท้ายที่จะนำมาอธิบายถึงเบื้องลึกเบื้องหลังในคราวนี้ นั่นก็คือคำกล่าวอำลา さようなら (ซาโยนาระ) นั่นเอง คันจิของคำทักทายคำนี้ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าที่ถูกต้องคือ 然様なら หรือ 左様なら กันแน่ แต่ส่วนใหญ่พบว่าเขียนด้วยคันจิ 左様 "ซาโยนาระ" ใช้กล่าวลาเมื่อจะแยกจากผู้อื่น แต่เดิมจะพูดกันเป็นประโยคยาว ๆ ว่า さようならば、お別れですね (ซาโยนาราบะ โอะวาคาเระเดสเนะ) แปลตรงตัวเป๊ะ ๆ ได้ว่า ถ้าเช่นนั้น ก็แยกจากกันนะ ต่อมาประโยคหลังถูกละเอาไว้ เหลือเพียงคำว่า "ซาโยนาราบะ" และหลังจากนั้นก็มีการละคำว่า "บะ" เหลือแค่ "ซาโยนาระ" นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนโดยตัด う เป็น さよなら ได้เช่นกัน
 

06

ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://www.irasutoya.com


        คำทักทายในภาษาญี่ปุ่นไม่ได้มีเพียงแค่ "สวัสดี" "ราตรีสวัสดิ์" "ลาก่อน" เท่านั้น ยังมีอีกหลายคำที่มีความหมายและความเป็นมาที่น่าสนใจ จะเป็นคำไหนบ้าง ไว้คอยติดตามในตอนต่อไป...


ภาณิการ์ สุรรังสิกุล TPA Press