ย้อนเวลาตามหา “เวจญี่ปุ่น"


        ห้องน้ำห้องท่าสมัยนี้แสนจะสะดวกสบายแถมยังไฮเทคสุด ๆ อย่างในเมืองไทยเรา ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำตามบ้านหรือห้องน้ำสาธารณะก็มีทั้งสายฉีดชำระและกระดาษชำระให้เลือกใช้ได้ตามสะดวก นอกจากนี้ ห้องน้ำตามห้างสรรพสินค้าบางแห่งยังเริ่มนำโถชักโครกไฮเทคที่มีปุ่มกดโน่น นั่น นี่ แบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในห้องน้ำของญี่ปุ่นมาให้บริการกันบ้างแล้ว แหม เข้าห้องน้ำแต่ละที มันช่างสุขีจริง ๆ
 

 photo 01_zpsfaqdsi1l.jpg

ขอบคุณภาพจาก - https://house.tss-shop.com/products/TIMINI_B

 
      พอพูดถึงห้องน้ำอันสุดแสนจะไฮเทคของญี่ปุ่น ก็ทำให้นึกอยากรู้ขึ้นมาตงิด ๆ ว่า ก่อนจะพัฒนาห้องน้ำและโถชักโครกให้คนญี่ปุ่นใช้กันได้สะดวกสบายอย่างในทุกวันนี้ ในอดีตคนญี่ปุ่นเขาขับถ่ายในสถานที่แบบไหนกัน
      จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบ สันนิษฐานกันว่า เริ่มมีห้องน้ำปรากฏให้เห็นในญี่ปุ่นในสมัยโจมน คนญี่ปุ่นในสมัยนั้นขับถ่ายลงในแม่น้ำโดยใช้วิธีพาดแผ่นไม้ยื่นไปในแม่น้ำ และใช้เศษเครื่องปั้นดินเผาแทนกระดาษชำระ อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อสันนิษฐานที่ว่าคนญี่ปุ่นในสมัยนั้นขับถ่ายลงในหลุมขยะเช่นกัน

 photo 02_zpslkclgcp8.png

ขอบคุณภาพจาก
https://www.rekihaku.city.yokohama.jp/maibun/knowledge/detail.php?seq=15


        ต่อมาในสมัยอาซุกะ คนญี่ปุ่นยังคงขับถ่ายลงในแม่น้ำอยู่ แต่สถานที่เริ่มมิดชิดมากขึ้น เปลี่ยนจากการพาดแผ่นไม้ยื่นไปในแม่น้ำเป็นการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้ามาในบริเวณตัวบ้านแทน และเปลี่ยนมาใช้เศษไม้แทนเศษเครื่องปั้นดินเผา สถานที่ขับถ่ายลักษณะนี้เรียกว่า 川屋 (คาวายะ) ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า 厠 (คาวายะ) ที่ใช้เรียก ห้องน้ำ ในปัจจุบัน
 

 photo 03_zps6amf7l6f.jpg

ขอบคุณภาพจาก
https://blog.goo.ne.jp/tudukimituo1028/e/4912e0dfde8d890bbecada6cc529f448


        จนกระทั่งสมัยเฮอันซึ่งเป็นยุคสมัยที่ชนชั้นสูงมีบทบาทค่อนข้างมาก ได้มีการปฏิวัติสถานที่ขับถ่ายครั้งใหญ่ บรรดาชนชั้นสูงในสมัยนั้นหันมาขับถ่ายลงในกล่องที่ทำจากไม้ มีลักษณะคล้ายกระโถนเด็กในปัจจุบันที่เรียกว่า 樋箱 (ฮิบาโกะ)
 

 photo 04_zpscjcjwrvj.jpg

ขอบคุณภาพจาก - http://kkknn4722.blog86.fc2.com/?m&no=825
(ซ้าย) ฮิบาโกะสำหรับถ่ายเบา (ขวา) ฮิบาโกะสำหรับถ่ายหนัก


        ตามบ้านเรือนของชนชั้นสูงในสมัยเฮอันจะไม่มีห้องน้ำโดยเฉพาะ แต่จะนำฮิบาโกะมาวางไว้ในห้องขนาดประมาณ 1 เสื่อทาทามิ (ประมาณ 1.6 ตารางเมตร) ซึ่งกั้นจากฉากกั้นหรือม่านไม้ไผ่ และเรียกสถานที่นี้ว่า 樋殿 (ฮิโดโนะ) เมื่อขับถ่ายเสร็จจะมีข้ารับใช้นำสิ่งปฏิกูลไปทิ้งลงในแม่น้ำ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านทั่ว ๆ ไปก็จะกำจัดกันเอง อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นก็ยังมีชาวบ้านที่ขับถ่ายลงในแม่น้ำหรือหลุมที่ขุดไว้ตามข้างทางหรือตามท้องทุ่ง
 

 photo 05_zpsvmujz0ix.jpg

ขอบคุณภาพจาก
https://blog.goo.ne.jp/isobekai/e/a436c96e848553c895ad1223c2754cc1

 
      ในสมัยเฮอัน กระดาษมีเป็นสิ่งมีค่า คนในสมัยนั้นจึงต้องใช้แท่งไม้ที่แบนและเรียวยาวที่เรียกว่า 籌木 (ชูงิ/ชูโบกุ) แทนกระดาษชำระ ดู ๆ ไปหน้าตาก็คล้ายกับไม้แก้งก้นของไทยเหมือนกันนะเนี่ย

 

 photo 06_zpse26xzeaj.jpg

ขอบคุณภาพจาก - https://edo-g.com/blog/2015/12/wc.html

 photo 07_zpsgjwsbnse.jpg

ขอบคุณภาพจาก - http://www.ch3thailand.com/news/drama/11601


        พอเข้าสู่สมัยคามาคุระ สิ่งปฏิกูลที่ขับถ่ายออกมาถูกนำไปใช้เป็นปุ๋ย จึงพบเห็นการใช้ส้วมหลุมกันทั่วไป โดยเฉพาะในสมัยเอโดะ สิ่งปฏิกูลเหล่านี้ถูกสูบขึ้นมาขายเพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยกันอย่างแพร่หลาย และในยุคสมัยนี้เองที่ กระดาษชำระ ได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นกระดาษรีไซเคิลที่เรียกว่า 浅草紙 (อาซากุสะงามิ) แต่ก็มีใช้กันในเขตเมืองเท่านั้น ชาวบ้านที่ห่างไกลก็ยังคงใช้แท่งไม้หรือใบไม้อยู่เหมือนเดิม
 

 photo 08_zpssdv7zuek.jpg

ขอบคุณภาพจาก - https://edo-g.com/blog/2015/12/wc.html/2

 photo 09_zps3yt5udig.jpg

ขอบคุณภาพจาก - http://kkknn4722.blog86.fc2.com/?m&no=825
ห้องน้ำที่ใช้กันในสมัยเอโดะจนถึงสมัยเมจิ


        และตั้งแต่สมัยคามาคุระเป็นต้นมา ส้วมหลุมได้กลายเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในที่พักอาศัยของคนญี่ปุ่น และเป็นรูปแบบของห้องน้ำที่ใช้กันแพร่หลายอยู่นานหลายร้อยปี ส่วนส้วมชักโครกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันเริ่มปรากฏให้เห็นที่ญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 20 นี่เอง ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาจนสามารถใช้ได้อย่างสะดวกสบายและถูกสุขอนามัยอย่างในปัจจุบัน


ภาณิการ์ สุรรังสิกุล TPA Press