แกะรอย...สาวน้อยรองเท้าแดง  


        เดิมทีตั้งใจว่าจะเล่าถึงประสบการณ์บนชิงช้าสวรรค์ Cosmo Clock 21 จากทริปท่องเที่ยวโยโกฮาม่าตามที่ตั้งใจไว้ แต่บังเอิญนึกถึงเรื่อง ๆ หนึ่งที่ประสบพบเจอระหว่างทางขึ้นมาได้ เลยอยากจะเล่าสู่กันฟังสักหน่อย เรื่องที่ว่านั้นก็คือ รูปภาพเงาของเด็กผู้หญิงสวมรองเท้าสีแดง ที่มักจะปรากฏอยู่บนห่อขนมของฝากหรือของที่ระลึกจากโยโกฮาม่าหลาย ๆ ชิ้น ตัวผู้เขียนเองเคยได้รับสมุดโน้ตที่ระลึกเล็ก ๆ ที่บนปกมีรูปภาพดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเช่นกัน แต่ไม่มีเวลาได้ถามรายละเอียด ตอนนั้นจึงทราบเพียงแค่ว่า เด็กหญิงคนนี้คือ "สัญลักษณ์" ของเมืองโยโกฮาม่าเท่านั้นเอง...

 

 photo red01_zps5acxb6uj.jpg

 

        จากการค้นหาข้อมูลทำให้ทราบว่า ที่เด็กหญิงรองเท้าแดงได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองโยโกฮาม่าก็เพราะว่า มีบทเพลงสำหรับเด็กเพลงหนึ่งชื่อ 赤い靴 (Akai Kutsu) ซึ่งแปลว่า "รองเท้าแดง" ได้กล่าวถึงเมืองโยโกฮาม่าเอาไว้ว่า 赤いくつはいてた女の子、異人さんにつれられて行っちゃった、横浜の埠頭から汽船に乗って…… (เด็กหญิงสวมรองเท้าแดง ถูกคนต่างชาติพาไป ขึ้นเรือที่ท่าเรือโยโกฮาม่า...) ผู้ประพันธ์เพลงนี้คือ อุโจ โนงุจิ (ปี 1882-1945) นักกวีและนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เขาได้แรงบันดาใจมาจากชีวิตจริงของลูกสาวบุญธรรมของเพื่อนร่วมงานที่ชื่อ คิมิ อิวาซากิ (ค.ศ. 1902-1911) หนูน้อยคิมิเกิดที่ จ.ชิซุโอกะ เธอเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของแม่ ต่อมาผู้เป็นแม่ได้ย้ายไปลงหลักปักฐานที่ฮอกไกโด ซึ่งที่นั่นเอง...เธอได้พบกับเพื่อนร่วมงานของอุโจและตกลงใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะชาวไร่ แต่เส้นทางชีวิตมิได้ราบรื่นอย่างที่คิด การใช้ชีวิตอยู่อย่างชาวไร่ชาวนานั้นลำบากแสนสาหัส จนในที่สุด แม่ของคิมิจึงตัดสินใจยกลูกสาววัย 3 ขวบให้แก่ครอบครัวมิชชันนารีชาวอเมริกันชื่อ ฮิววิตต์ ไปอุปการะเลี้ยงดูแทน หลังจากนั้นครอบครัวนี้ก็ได้ย้ายกลับไปอเมริกาและแม่ของคิมิก็เข้าใจว่าลูกสาวได้ติดตามครอบครัวนี้ไปด้วย จึงได้เกิดบทเพลง "รองเท้าสีแดง" ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความคิดถึงคำนึงหาของแม่ที่มีต่อลูกสาวที่ถูกพาไปต่างบ้านต่างเมือง นับว่าเป็นบทเพลงที่เศร้าสร้อยยิ่งนัก ทว่า...ความจริงที่อยู่นอกบทเพลงกลับรันทดยิ่งกว่า

 

 photo 800px-__1_zpsbyjjbti5.jpg

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://ja.wikipedia.org/wiki/%E8%B5%A4%E3%81%84%E9%9D%B4

 

        หลังจากเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงร้องสำหรับเด็กในเวลาต่อมา ในปี 1973 น้องสาวต่างบิดาของคิมิก็ได้เขียนเรื่องราวที่เชื่อมโยงระหว่างพี่สาวของเธอกับบทเพลงนี้ไปลงในหนังสือพิมพ์ จนผู้จัดรายการโทรทัศน์ของ Hokkaido Television Broadcasting  ชื่อ ฮิโรชิ คิกุจิ เกิดสนใจและพยายามค้นหาหลักฐานต่าง ๆ เป็นเวลาร่วม 5 ปี จนในปี 1978 ฮิโรชิก็เปิดเผยความจริงอันแสนเศร้าให้ชาวญี่ปุ่นได้ทราบว่า แท้จริงแล้วตัวคิมินั้นไม่เคยได้เดินทางออกนอกประเทศเลย เพราะเธอเกิดป่วยเป็นวัณโรคเสียก่อน ครอบครัวฮิววิตต์จึงฝากเธอไว้ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในโตเกียวแล้วกลับประเทศไปโดยไม่มีเธอ คิมิมีชีวิตอยู่ต่อหลังจากนั้น 6 ปี...เธอก็เสียชีวิตด้วยวัยเพียง 9 ขวบ เด็กน้อยไม่เคยเห็นหน้าแม่อีกเลยตราบจนวาระสุดท้ายของเธอ ในขณะเดียวกัน ผู้เป็นแม่เองที่หลงคิดว่าลูกสาวตัวน้อยได้ถูกพาจากไปยังดินแดนโพ้นทะเลอย่างมิอาจหวนกลับ...ก็ได้แต่อาลัยอาวรณ์ถึงลูกสาวตลอดทั้งชีวิต ท้ายที่สุดแล้ว ในปี 1979 ก็ได้มีการสร้าง "รูปปั้นเด็กหญิงสวมรองเท้าแดง"  ขึ้นเป็นที่ระลึก ณ สวนสาธารณะยามาชิตะ ในเมืองโยโกฮาม่า นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคิมิ...ผู้เป็นตำนานของเด็กหญิงรองเท้าแดงเช่นนี้อีก 6 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ โตเกียว ชิซุโอกะ อาโอโมริ และที่ฮอกไกโด 3 แห่ง

        ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะว่า จากรูปภาพเล็ก ๆ บนห่อขนมจะมีประวัติความเป็นมาที่น่าทึ่งขนาดนี้


เกร็ดความรู้ท้ายบทความ


        คำกริยา "ถอดรองเท้า" และ "ใส่รองเท้า” ในภาษาญี่ปุ่นจะใช้ว่า くつをはく (kutsu wo haku ใส่รองเท้า) และ くつをぬぐ (kutsu wo nugu ถอดรองเท้า) ...อย่าลืมจำไว้ไปใช้กันนะคะ


อนิล พยุงเกียรติคุณ TPA Press